วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

ดอกป๊อบปี้

 ดอกป๊อบปี้



ประวัติศาสตร์กว่าสองร้อยปีของประเทศออสเตรเลียยุคใหม่ ยุคที่คนขาวเข้ายึดดินแดนและแย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่างจากชนพื้นเมืองชาวอะบอริจินนั้น จุดเริ่มต้นอยู่ที่การเข้ามาของคนขาวสองกลุ่มใหญ่ในปีคริสต์ศักราช 1788
กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ถือปืนเข้ามา ส่วนอีกกลุ่มเอาแนวความคิดแบ่งแยกชนชั้นเข้ามา
ถึงแม้ทั้งสองกลุ่มจะมาจากอังกฤษเหมือนกันก็ตาม แต่มีเฉพาะกลุ่มหลังเท่านั้นที่เป็นอังกฤษอย่างแท้จริง อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มที่รวมคนจากยี่สิบสองเชื้อชาติ ยี่สิบสองสายพันธุ์ ยี่สิบสองวัฒนธรรม และยี่สิบสองแนวความคิด
ประวัติศาสตร์เริ่มต้นเมื่อคนสองกลุ่มนี้ไม่ค่อยถูกกันนัก
ผมนั่งอ่านประวัติศาสตร์ช่วงต้นของประเทศออสเตรเลียยุคใหม่อย่างสนใจยิ่ง แต่สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผมมากที่สุดกลับอยู่ที่ศัพท์คำหนึ่งที่ว่า The Tall Poppy Syndrome
Tall Poppy หมายถึง คนที่โดดเด่นเหนือคนอื่นๆ ในกลุ่ม เนื่องจากประสบความสำเร็จมากกว่า รวยกว่า และมีชื่อเสียงมากกว่า
ศัพท์คำนี้ได้รับการบันทึกครั้งแรกในดิกชันนารีแห่งชาติออสเตรเลียในปี 1902
ประวัติศาสตร์การปลูกดอกป๊อปปี้ได้รับการบันทึกว่า เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อห้าพันปีก่อนคริสต์ศักราช ในพื้นที่วงพระจันทร์ที่อุดมสมบูรณ์ของดินแดนเมโสโปเตเมียระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส พื้นที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นสวนแห่งอีเดน สวรรค์บนดินซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความศิวิไลซ์ของเผ่าพันธุ์มนุษย์
ดอกป๊อปปี้สามารถเติบโตได้เกือบทุกพื้นที่ ดอกป๊อปปี้มีสีแดง ประวัติศาสตร์โลกส่วนหนึ่งบันทึกบทบาทของดอกป๊อปปี้ที่เกี่ยวพันไปถึงสมรภูมิฟลานเดอร์ (Battle fields of Flanders) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเป็นสมรภูมิระหว่างประเทศเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ ระหว่างทหารฝ่ายพันธมิตรและเยอรมนี
ในครั้งนั้นทหารฝ่ายพันธมิตรได้รับบาดเจ็บและล้มตายเป็นอันมาก ณ ที่นั้น จอมพลเอิร์ล ออฟเฮก ผู้บัญชาการรบที่นั่นได้สังเกตเห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แสนมหัศจรรย์เกิดขึ้นที่บริเวณหลุมศพทหาร นั่นคือ มีดอกป๊อปปี้ป่าขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดเป็นลานสีแดงที่สวยงาม
นอกจากนี้ ดอกป๊อปปี้ยังถูกบันทึกไว้ในบทกวีที่ชื่อว่า "In Flanders Fileds" ประพันธ์โดย พันโทจอห์น แม็คแครร์ แพทย์ชาวแคนาดา ที่ว่า

In Flanders Fields
In Flanders fields the poppies blow
Between the crosses, row on row
That mark our place; and in the sky
The larks, still bravely singing, fly
Scarce heard amid
the guns below.
We are the Dead. Short days ago
We lived, felt dawn, saw sunset glow,
Loved and were loved,
and now we lie
In Flanders fields.
Take up our quarrel with the foe:
To you from failing hands we throw
The torch; be yours
to hold it high.
If ye break faith with us who die
We shall not sleep,
though poppies grow
In Flanders fields.

จากนั้นมาดอกป๊อปปี้จึงเป็นดอกไม้สัญลักษณ์แห่งวีรกรรมของเหล่าทหารผ่านศึก ดอกสีแดง หมายถึง สีเลือดของเหล่าทหารหาญที่ได้หลั่งชโลมแผ่นดินไว้ด้วยความกล้าหาญและความเสียสละสูงสุด
นอกจากนี้ ภาพเขียนที่มีชื่อเสียงภาพหนึ่งของโมเนต์ จิตรกรนามอุโฆษ ชื่อภาพว่า "Poppy Fields at Argenteuil" เขียนขึ้นเมื่อปี 1873 โดยได้รับแรงบันดาลใจเมื่อโมเนต์เดินทางไปถึงเมือง Argenteuil เมืองเล็กๆ ที่ล้อมรอบด้วยดอกป๊อปปี้ในวันที่ 2 มกราคม 1872
ดอกป๊อปปี้จะมีก้านยาวและเติบโตขึ้นในแนวดิ่ง และสูงขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อใดก็ตามที่มีดอปป๊อปปี้สูงเด่นเกิน ดอกป๊อปปี้ดอกอื่นๆ สิ่งที่คนออสเตรเลียทำ คือ ตัดมันทิ้งเสีย
Tall poppy ที่สูงเด่นเกินเพื่อนๆ ในสังคมก็จะถูกกำจัดทิ้งไปด้วยเช่นกัน
The Tall Poppy Syndrome จึงหมายถึง วัฒนธรรมทางสังคมของคนออสเตรเลียที่ไม่ต้องการให้ใครเด่นเกินหน้าใคร ถ้าใครเด่นเกินก็จะถูกกำจัดทิ้งไปเสีย
ในปี 1999 รัฐบาลออสเตรเลียนำโดยนายกรัฐมนตรี จอห์น โฮเวิร์ด พยายามที่จะเพิ่มข้อความสำคัญที่ว่า "จะยกย่องความเป็นเลิศ" เข้าไปในรัฐธรรมนูญแห่งชาติออสเตรเลีย และภายหลังได้ให้สัมภาษณ์รายการวิทยุเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "ปัญหาอย่างหนึ่งของออสเตรเลียคือ วัฒนธรรม Tall Poppy Syndrome และถ้ามีสิ่งหนึ่งที่เราต้องกำจัดให้พ้นไปจากประเทศนี้เสีย คือ เรื่อง Tall Poppy Syndrome นี้เอง"
อย่างไรก็ตาม เมื่อทำประชามติทั่วประเทศข้อความนี้ก็ได้รับการปฏิเสธอย่างแข็งขัน และคนทั่วประเทศต่างก็หัวเราะเยาะความผิดพลาดครั้งนี้ของโฮเวิร์ด
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวว่า "ถ้า ทฤษฎีสัมพันธภาพของเขาได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง คนเยอรมันจะเรียกเขาว่าเป็นคนเยอรมัน คนสวิตเซอร์แลนด์ก็จะเรียกเขาเป็นคนสวิตเซอร์แลนด์เช่นกัน และคนฝรั่งเศสจะเรียกเขาว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่ถ้าทฤษฎีของเขาไม่ถูกต้อง คนฝรั่งเศสจะเรียกเขาว่าเป็นคนสวิส คนสวิสจะเรียกเขาว่าเป็นคนเยอรมัน และคนเยอรมันจะเรียกเขาว่าเป็นยิว"
นักจิตวิทยาสังคมได้พัฒนาทฤษฎีอันหนึ่งที่เรียกว่า Self-categorization Theory ซึ่งพัฒนาโดย Turner, Hogg, Oakes, Reicher และ Wetherell ในปี 1987 เพื่ออธิบายคำกล่าวของไอน์สไตน์ข้างต้น ทฤษฎีนี้กล่าวว่า ผู้คนจะเปลี่ยนจุดยืนความคิดของตนเพื่อให้ตัวเองได้เข้าไปผูกกับเกียรติยศและความสำเร็จ หรือเพื่อให้ห่างไกลจากความผิดพลาด หรือความไม่ดีไม่งามทั้งหลายแหล่
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ไม่น่าจะใช้ได้กับสังคมออสเตรเลีย
เราอาจจะกล่าวได้ว่า ความอิจฉาน่าจะเป็นพื้นฐานสนับสนุนวัฒนธรรมนี้
ในปี 1988 ระหว่างงานฉลองวันเกิดครบรอบหนึ่งร้อยปีของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลชาวออสเตรเลีย เซอร์ โฮเวิร์ด โฟลเรย์ (Sir Howard Florey) สถาบันรัฐศาสตร์แห่งออสเตรเลีย (Australian Institute of Political Science - AIPS) ได้รณรงค์เพื่อสนับสนุนคนที่ประสบความสำเร็จในสังคม ในชื่อโครงการ The Tall Poppy Campaign
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอะไรประกันว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ และสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดที่ฝังแน่นอยู่ในระบบวิธีคิดของชาวออสเตรเลียได้
ที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน ไม่มีใครอยากเห็นคนอื่นดีกว่าตัวเองหรอก ภาษิตที่ว่า "ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน" ยังคงขลังและใช้ได้ในทุกๆ ที่ทั่วโลกจริงๆ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น